วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ระบบการศึกษาไทย

ระบบการศึกษาไทย
การศึกษาไทยยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องเป็นการศึกษาที่ช่วยพัฒนาศักยภาพหรือเสริมสร้างพลังที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่จุดเริ่มแรกและตลอดช่วงวัยของชีวิต ระบบการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงจัดให้มีโครงสร้างที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น หลากหลายรูปแบบและวิธีการจัดที่เอื้อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เป็นการทำให้การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ซึ่งการจะเกิดระบบการศึกษาดังกล่าวจำเป็นจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมและกำหนดเงื่อนไขปัจจัย และระบบการศึกษาที่เหมาะสม

ระบบการศึกษา : เป็นการจัดองค์ประกอบต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างการศึกษาในเรื่อง ระดับการศึกษา รูปแบบการศึกษา และปรพเภทของการศึกษา

วัตถุประสงค์
ระบบการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และเสมอภาคโดยปราศจากข้อจำกัดในเรื่องเพศ อายุ อาชีพ พื้นฐานการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา
(2) เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดช่วงอายุอย่างต่อเนื่องโดยใช้การศึกษาที่หลากหลายรูปแบบผสมผสานกัน เพื่อให้การศึกษาช่วยพัฒนาคนได้เต็มที่
(3) เพื่อให้การศึกษาทุกรูปแบบเชื่อมโยงต่อเนื่อง สามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ทั้งในระหว่างรูปแบบเดียวกันและต่างรูปแบบได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
(4) เพื่อให้การจัดบริการการศึกษามีสาขาวิชา กิจกรรมและวิธีสอนที่หลากหลายวิธี ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความต้องการ ตามความสนใจ ตามความถนัด
(5) เพื่อให้การจัดการศึกษาผสมกลมกลืนไปกับการดำรงชีวิตของประชาชน ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ให้มีความต้องการเรียนรู้อยู่เป็นนิจ
(6) เพื่อให้ทุกฝ่ายของสังคมมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ

ความสำคัญของการศึกษา

กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้โลกไร้พรมแดนเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ชาติจำเป็นต้อง แข่งขันกัน เช่นเดียวกับประเทศไทยต้องแข่งขันกับนานาประเทศในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการที่ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันและยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรีในสังคมโลกบนฐานแห่งความเป็นไทย การพัฒนาคนและคุณภาพของคนเป็นทั้งเหตุปัจจัยและ ผลลัพธ์สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ การศึกษาจึงเป็นรากฐานที่มีความสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้ เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองด้านต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิด มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านต่างๆ ที่จะดำรงชีพและประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง อันเป็นพลังสร้างสรรค์การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2539 : 1 –2 ) ดังที่ประไพ เอกอุ่น (2542 : 1 – 2) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาไว้ดังนี้
1. การศึกษาช่วยขัดเกลาให้คนในสังคมละอายต่อบาป ละความเห็นแก่ตัวเป็น
พลเมืองดี มีสติสัมปชัญญะ
2. การศึกษาช่วยให้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพ
3. การศึกษาช่วยอบรมบ่มนิสัยคนให้มีคุณสมบัติที่ดี ขยัน อดทน ซื่อสัตย์
ประหยัดพึ่งตนเองภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีตนเอง ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
4. การศึกษาช่วยในการเคารพกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและการปฏิบัติตามสิทธิ
หน้าที่ของพลเมืองที่ดี
5. การศึกษาช่วยให้รู้จักคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีของชาติ
6. การศึกษาช่วยให้เกิดความสำนึกในการที่จะรักษาความมั่นคง เอกราชและ
เสถียรภาพของประเทศชาติ
7. การศึกษาช่วยให้เกิดความสำนึก เห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณสมบัติ เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างประหยัดและทนุบำรุงรักษาให้คงสภาพเดิมมากที่สุด
8. การศึกษาช่วยให้การดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข สามารถดูแลรักษาอนามัยส่วนตน
และชุมชน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์สามารถนำข้อคิดและข้อปฏิบัติจากศาสนาที่ตนนับถือมาใช้ในการดำเนินชีวิต
9. การศึกษาช่วยเตรียมบุคคลในสังคมให้รู้จักการคิดวิเคราะห์หาทางเลือก พร้อม
ที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ และสามารถปรับตัวเองได้อย่างมั่นใจ

ความหมายของการศึกษา

การศึกษา (Education) เป็นคำที่ปรากฏในมาตรา 4 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่ง หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

"ยัยหัวใหญ่"